ผักกับแกล้มทุกมื้อของชาวใต้

จากหนังสือ “ผักพื้นบ้านภาคใต้” ตำราของศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย ได้พูดถึงผักหลายชนิดด้วยกันที่สามารถปลูกและเจริญเติบโตในภาคใต้ของประเทศไทย ความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า ผักต่างๆ เหล่านี้สามารถหาได้ได้ภูมิภาคแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีภูมิอากาศร้อนชื้นฝนตกชุกใกล้เคียงกับประเทศไทย

ผักพื้นบ้านชาวภาคใต้

จุดเด่นประการหนึ่งของผักพื้นบ้านภาคใต้ คือ วัฒนธรรมการกินที่โดดเด่นของชาวใต้ นั่นคือ เมื่อไรก็ตามที่เราได้มีโอกาสนั่งกินอาหารใต้ จะมีน้ำพริมพร้อมผักแกล้มกลางโต๊ะเสมอ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความมีสุขภาพดี แข็งแรง ของชาวใต้ที่ได้รับคุณค่าจากผักเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ทุกวันนี้วัฒนธรรมนี้ได้แพร่หลายไปสู่ทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าร้านอาหารใต้นั้นจะอยู่ที่ไหน วัฒนธรรมในการวางถ้วยน้ำพริกพร้อมกับผักแกล้มเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

ลองมาสังเกตถึงวัฒนธรรมบางประการที่คล้ายคลึงกันของอาหารชาวเกาหลีที่ทานกิมจิเป็นอาหารหลัก โดยมื้อพิเศษที่คนเกาหลีมักต้อนรับแขกคือ อาหารที่ประกอบไปด้วยถ้วยเล็กของ กิมจิ ประเภทต่างๆ วางเรียงรายเต็มโต๊ะ และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกันเลยทีเดียว พบว่า ข้อมูลอ้างอิงแหล่งหนึ่งถึงกับยืนยันว่า อยากสุขภาพดีผิวพรรณเปล่งปลั่งต้องทานกิมจิเป็นประจำแบบชาวเกาหลี

[blog] วันนี้ได้เลือกผักประเภทที่คุ้นตากันบนโต๊ะอาหาร ดังนี้

กระถิน

อีกชื่อหนึ่งเรียก ตอเบา สะตอเบา ได้ด้วย อาจจะเพราะว่ากลิ่นชุนใกล้เคียงกับสะตอหรืออย่างไร
ประโยชน์ทางยา แก้ท้องร่วง สมานแผล ห้ามเลือด เมล็ด เป็นยาถ่ายพยาธิ ราก เป็นยาอายุวัฒนะ ขับลม
ฤดูกาล ตลอดปี

ทองหลาง

สามารถทานกันได้ทั้งสดและลวก ใช้เป็นผักแกล้มน้ำพริก เมี่ยงคำ ทำห่อหมก ใบ แก้เสมหะ แก้ลมพิษ หยอดตาแก้ตาแดง ตาแฉะ ราก แก้พยาธิ แก้เสมหะ แก้ไข้ พอกบาดแผล แก้ปวดแสบปวดร้อน มักเติบโตดีในฤดูฝน

เนียง

บางที่เรียกว่า “ลูกเนียง” พอเห็นรูปตอนอยู่บนต้นแล้วเพิ่งรู้ว่าคือ ลูกเนียง ใช้ลูกอ่อนปอกเปลือกจิ้มน้ำพริก หรือกินร่วมกับอาหารรสเผ็ด เพาะเป็นต้นอ่อนแล้วดองเป็นผักแกล้ม ออกผลให้กินช่วง พฤษภาคม-สิงหาคม

เล็บครุฑ

ใช้กินยอดอ่อนทั้งแบบสดและทำให้สุก เช่น ใบเล็บครุฑชุบแป้งทอด แต่ก่อนยายชอบทำให้กิน โดยทอดกับปูตัวเล็กๆ อร่อยเหาะ+++
จะนำไปซอยเป็นฝอยใส่ทอดมันปลากรายก็ได้ ใบ รสหอมร้อน ตำพอกแก้ปวดบวม

สะตอ

จานที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นผัดกะปิสะตอ แจ่ม!!!

ผัดกะปิสะตอ ขอบคุณภาพจาก good4eat.com
เจริญเติบโตตามเชิงเขาที่มีสภาพป่าสมบูรณ์มีความชื้นในอากาศสูง โดยกินสดหรือดองก็ได้ และยังนิยมผัดเผ็ด ต้มกะทิ เมล็ด ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยลดน้ำตาลในเส้นเลือด กินประจำป้องกันโรคเบาหวาน ออกผลช่วง มิถุนายน-กรกฎาคม

เหรียง

เหรียง ลักษณะคล้ายสะตอมาก แต่เป็นพืชตระกูลถั่ว เมล็ด เมื่อแก่ตัดส่วนปลายนำไปเพาะให้แตกรากสั้นๆ รับประทานสด ดอง หรือแกง เปลือก ช่วยสมานแผล ลดน้ำเหลือง

ผักกูด

ผักกูดมักปลูกได้ดีริมน้ำ และใช้ยอดอ่อนต้มกับกะทิ เป็นผักจิ้มน้ำพริก แต่ไม่ควรกินดิบ ควรต้มให้สุกก่อน เพราะผักกูดมีสารออกซาเลตสูง สามารถใช้เป็นส่วนผสมทางยาช่วยระบายอีกด้วย อีกทั้งบางบ้านก็นำไปปลูกเป็นไม้ประดับ

หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับผักบนโต๊ะอาหารใต้กันมากขึ้นน่ะค่ะ